สัญญาณเข้าสู่อาการวัยทองในผู้หญิง กับช่วงประจำเดือนหมด และอาการอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมรับมือ

460 views | 7 เดือนที่แล้ว

สัญญาณเข้าสู่อาการวัยทองในผู้หญิง กับช่วงประจำเดือนหมด และอาการอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมรับมือ

เชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินกับคำว่า “วัยทอง” กันมาบ้าง แต่หลายท่านเอง อาจจะยังไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว อาการวัยทองนั้น มีจริงใช่ไหม? และมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง? สำหรับบทความนี้ My Luck จะพาไปทำความเข้าใจกับอาการวัยทองให้มากขึ้นกัน เพื่อให้ทั้งคุณผู้อ่าน ที่อาจเป็นผู้สูงอายุ ได้เข้าใจกับอาการที่อาจเกิดกับตัวท่าน หรือแม้ถ้าท่านไม่ใช่ผู้สูงอายุ ท่านจะได้ทำความเข้าใจคนที่ท่านรักได้มากขึ้น อย่างแน่นอน

1. อาการวัยทอง เป็นอย่างไร?

อาการวัยทอง คือ อาการที่ร่างกายเริ่มมีภาวะฮอร์โมนเพศลดลง สามารถเกิดได้กับทางผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเมื่อฮอร์โมนเพศนี้หมดลง จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สภาพทางด้านร่างกาย และ สภาพทางด้านอารมณ์จิตใจ ดังนั้น หากเรารู้ทันอาการต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ก็จะช่วยให้เราเข้าใจกับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของร่างกายได้

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า อาการวัยทองในผู้หญิง และอาการวัยทองผู้ชาย มีได้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ว่า จะมีความแตกต่างกันอย่างไร? ลองตามไปอ่านต่อกัน

2. อาการวัยทองในผู้หญิง

สำหรับผู้หญิง เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง ร่างกายจะหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่า เอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยที่หากร่างกายหยุดการผลิตฮอร์โมนครบ 1 ปี จะทำให้ประจำเดือนหมด หรือเข้าสู่ช่วงวัยทองอย่างสมบูรณ์

เกร็ดความรู้

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง หรือก็คือ ควบคุมการผลิตรังไข่เป็นส่วนใหญ่ ส่วน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตก และการมีประจำเดือน

โดยอาการวัยทองในผู้หญิงที่เกิดขึ้นได้ ได้แก่

  1. ประจำเดือนหมด
  2. ช่องคลอดแห้ง จนทำให้อาจรู้สึกเจ็บในเวลาที่มีเพศสัมพันธ์
  3. ความต้องการทางเพศลดลง
  4. มีอารมณ์แปรปรวนง่าย ทำให้มีอาการหงุดหงิด วิตกกังวลง่ายขึ้น
  5. มีอาการร้อนวูบวาบ (Hot Flush) โดยเฉพาะในบริเวณส่วนบนของร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า, ช่วงคอ และอก โดยอาจมีอาการประมาณ 1-5 นาที ร่วมกับอาการเหงื่อออก, หนาวสั่น ทำให้อาจนอนหลับยากขึ้นได้
  6. ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผิวบาง เป็นแผล กระ ได้ง่ายขึ้น
  7. ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น และควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้น้อยลง
  8. ความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน
  9. ความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์

 

เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และสภาวะทางอารมณ์

 

ประจําเดือนหมด อายุเท่าไหร่?

อายุเฉลี่ยสำหรับผู้หญิงที่จะเริ่มประจำเดือนหมด จะอยู่ในช่วง 45-50 ปีเป็นต้นไป โดยอาจมาเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ ขึ้นกับสภาพร่างกายและกรรมพันธุ์ของแต่ละบุคคล

อาการก่อนหมดประจําเดือน วัยทอง

ก่อนถึงวัยหมดประจําเดือน อาการในช่วงเริ่มแรก ประจำเดือนจะเริ่มมาไม่ค่อยคงที่ โดยจะเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ และทิ้งระยะเวลานานขึ้น พร้อมกับร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามอาการวัยทอง ได้แก่ อารมณ์เริ่มแปรปรวนง่ายขึ้น, มีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย, ปวดเมื่อยตามกระดูกและข้อ, นอนหลับยากขึ้น เป็นต้น

 

3. อาการวัยทองผู้ชาย

อาการวัยทอง ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายเองก็มีอาการวัยทองได้เช่นกัน เพียงแต่อาการอาจไม่ได้แสดงชัดเจนเท่ากับเพศหญิง เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศชายจะเป็นไปอย่างช้า ๆ การเปลี่ยนแปลงในผู้ชายจึงอาจไม่ได้สังเกตเห็นได้ทันทีเหมือนในผู้หญิง โดยอาการวัยทองผู้ชายนั้น เกิดจากการที่ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) มีการลดลงอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะเมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป 

เกร็ดความรู้

ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์และลักษณะเพศชาย ซึ่งฮอร์โมนแอนโดรเจนเกือบทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนให้เป็นฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) 

โดยอาการวัยทองในผู้ชายที่เกิดขึ้น จะมีความคล้ายกับอาการวัยทองในผู้หญิง ได้แก่

  1. อารมณ์ความต้องการทางเพศลดลง
  2. สมรรถภาพทางเพศลดลง หรือบางรายอาจเกิดอาการสมรรถภาพทางเพศหย่อนยาน อวัยวะไม่แข็งตัว
  3. มีอารมณ์แปรปรวนง่ายได้เช่นเดียวกับผู้หญิง
  4. มีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย ปวดเมื่อยตัวได้ง่าย อาจรู้สึกเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ทำให้อาจรู้สึกนอนหลับยาก
  5. ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผิวบาง เป็นแผล กระ ได้ง่ายขึ้น ได้เช่นกัน
  6. ความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากกระดูกบางลง

อาการวัยทองผู้ชาย เริ่มที่อายุเท่าไหร่?

อายุเฉลี่ยสำหรับผู้ชายที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง จะอยู่ในช่วง 50-55 ปีเป็นต้นไป โดยอาจมาเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ ขึ้นกับสภาพร่างกายและกรรมพันธุ์ของแต่ละบุคคล

 

4. อาการวัยทอง วิธีรักษามีไหม? ทำยังไงได้บ้าง?

เป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงกับการประสบปัญหาอาการวัยทอง เพราะเกิดจากกลไกของร่างกายมนุษย์เรา ถึงแม้เราจะหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราก็สามารถเตรียมรับมือ เตรียมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ให้รู้เท่าทันและพร้อมรับมือกับอาการวัยทองได้

 

อาการวัยทอง วิธีรักษามีอยู่หลายวิธี สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้


 

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ

พยายามเข้านอน ตื่นนอนให้เป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายได้คุ้นชินและมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แนะนำเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงมาก เช่น โยคะ, ว่ายน้ำ, เดินหรือวิ่งเบา ๆ เป็นต้น (ออกกำลังกายง่าย ๆ ด้วยท่ากายบริหารสำหรับผู้สูงอายุ)

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

โดยเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง อย่างเช่น นม (ที่เหมาะกับร่างกายผู้บริโภคแต่ละคน), โยเกิร์ต, พืชตระกูลถั่ว, ปลา และงดอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ (สามารถอ่านสาระเรื่องของอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุเพิ่มเติมได้ที่บทความ สารอาหารที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ)

  1. จำกัดปริมาณคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

พยายามลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีน หากเป็นคนที่ติดการดื่มกาแฟ แนะนำให้ปรับเป็นกาแฟชนิดที่ไม่มีคาเฟอีน (หรือเรียกกันว่า กาแฟ Decaf) รวมทั้งลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

  1. ตรวจคัดกรองสุขภาพเป็นประจำ

อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อาทิ ความดันโลหิต, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเต้านม, มวลความหนาแน่นของกระดูก เป็นต้น

  1. รักษาโดยวิธีทางการแพทย์

       การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เป็นวิธีที่ใช้กับผู้ที่มีอาการวัยทองขั้นรุนแรง และไม่เข้าข่ายในการห้ามใช้ (กลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ฮอร์โมนทดแทน ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก, ผู้ที่เป็นโรคตับ, ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า, ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ)

       ใช้กลุ่มยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศหญิง (Non-hormonal Treatment) ช่น กลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า

 

การออกกำลังกาย เป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย และช่วยลดความเครียดได้

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านน่าจะได้ทำความเข้าใจกับ “อาการวัยทอง” กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าอาการวัยทองจะดูเหมือเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เราต้องเจอ แต่หากตัวผู้สูงอายุเองและคนในครอบครัว มีความเข้าใจ และเตรียมพร้อมในการรับมือกับอาการที่ต้องเจอเหล่านี้ได้ทันท่วงที ก็จะช่วยให้สุขภาพความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นไปในทางที่ดีแน่นอน

สำหรับท่านใดที่อยากปรึกษาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ My Luck Nursing Home ของเราเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย ที่ @mylucknursinghome

 

Social Share

โทรหาเรา

02-0019720 , 084-1612333 , 081-6573328

อีเมลหาเรา

ที่อยู่

Myluck Nursing home (มายลักษณ์เนอร์สซิ่งโฮม)
สาขาบางมด: 16 ซ.ประชาอุทิศ 45 ถ.ประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 10140
สาขาบางกรวย: 99/10 สินธราซอย 3 ต.บางสีทอง อ.บางกรวย นนทบุรี 11130
https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/?accountId=euq6746d